การใส่ปุ๋ยยางพารา


การใส่ปุ๋ยยางพารา
สูตรปุ๋ยยางพาราปัจจุบันมี 6 สูตร แต่ละสูตรจะเหมาะสมกับเนื้อดิน และอายุของ ต้นยางแตกต่างกัน ดังแสดงไว้ในตาราง
ปุ๋ยสูตรที่ สูตรปุ๋ย ชนิดของดิน อายุของต้นยาง
ปุ๋ยเม็ด ปุ๋ยผสม
1 18-10-6 8-14-3 ดินร่วน 2 – 41 เดือน
2 18-4-5 13-9-4 ดินร่วน 47 – 71 เดือน
3 16-8-14 8-13-7 ดินทราย 2 – 41 เดือน
4 14-4-19 11-10-7 ดินทราย 47 – 71 เดือน
5 – 15-0-18 ดินทุกชนิด ต้นยางหลังจากเปิดกรีดซึ่งเคยปลูกพืชคลุมดิน และใส่ปุ๋ยฟอสเฟต บำรุงพืชคลุมดิน
6 15-7-18 12-5-14 ดินทุกชนิด ต้นยางหลังเปิดกรีด ซึ่งไม่เคยปลูกพืชคลุมดินมาก่อน

หมายเหตุ :
- ฟอสฟอรัสในสูตรปุ๋ยเม็ดเป็นค่าของฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์
- ฟอสฟอรัสในสูตรปุ๋ยผสมเป็นค่าของฟอสฟอรัสทั้งหมด
- ดินทราย คือดินที่มีเนื้อดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย อุ้มน้ำไม่ดี ถูกชะล้างได้ง่ายตรึงธาตุอาหารได้น้อย
มีโปแตสเซียมต่ำ
-ดินร่วน คือดินที่มีเนื้อดินละเอียดพอสมควร อุ้มน้ำได้ดี มีการระเหยน้ำและถ่ายเทอากาศพอเหมาะ
ตรึงธาตุอาหารได้มากพอสมควร มีโปแตสเซียมตั้งแต่ปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ
- ปุ๋ยเม็ด คือปุ๋ยที่ได้จากการนำวัตถุดิบให้กำเนิดปุ๋ยไปผ่านกรรมวิธีการผลิตทางเคมีตามขั้นตอนต่างๆ
ปุ๋ยที่ได้จะเป็นเนื้อเดียวกัน ปุ๋ยแต่ละเม็ดจะมีองค์ประกอบของธาตุเหมือนๆ กัน เช่นปุ๋ยสูตร 15-7-18, 15-15-15 จัดเป็นปุ๋ยเคมีตามพระราชบัญญัติปุ๋ย เป็นปุ๋ยที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาดและมีผู้นิยมใช้มากที่สุด
- ปุ๋ยผสม คือ ปุ๋ยที่ได้จากการนำแม่ปุ๋ยหรือปุ๋ยเชิงเดี่ยวมาผสมด้วยวิธีกลโดยไม่ผ่านกรรมวิธีทางเคมี เช่น
นำเอาปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยร้อคฟอสเฟตและปุ๋ยโปแตสเซียมคลอไรด์มาผสมคลุกเคล้ากันในอัตราส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารตามต้องการ แล้วนำไปใช้ทันที เป็นต้น

เวลาที่เหมาะสมในการกรีดยาง


เวลาที่เหมาะสมในการกรีดยาง



ควรจะเริ่มกรีดยางตั้งแต่ตอนเช้า ประมาณ 06.00-08.00 น. เพราะจะทำให้ปฏิบัติงานได้สะดวก เนื่องจากมองเห็นชัดเจนกว่ากลางคืนและผลผลิตที่ได้ใกล้เคียงกับการ กรีดในตอนกลางคืน
วิธีการกรีดยาง
ควรกรีดยางโดยใช้วิธีกระตุกข้อมือหรือการซอย พร้อมกับย่อตัวและสลับเท้าไปตามรอยกรีด ของต้นยาง อย่ากรีดโดยวิธีใช้ท่อนแขนลากหรือกระชากเป็นอันขาด การกรีดโดยวิธีกระตุกข้อมือจะทำให้กรีดได้เร็ว ควบคุมการกรีดง่าย กรีดเปลือกได้บาง แม้จะกรีดบาดเนื้อไม้ก็จะบาดเป็นแผลเล็กๆเท่านั้น
ระบบการกรีดยาง
เนื่องจากในระยะ 2-3 ปีแรกของการกรีด ต้นยางยังอยู่ในระยะการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง การกรีดยาง มากเกินไปจะทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นจึงควรกรีดยางในระบบครึ่งต้นวันเว้นวัน โดยหยุดกรีดในช่วงผลัดใบและไม่มีการกรีดชดเชยเพื่อ ทดแทน วันที่ฝนตกจนกระทั่งปีที่ 4 ของการกรีดเป็นต้นไป จึงสามารถกรีดชดเชยได้ระบบกรีดครึ่งลำต้นวันเว้นวันนี้ใช้ได้กับยาง เกือบทุกพันธุ์ ยกเว้นบางพันธุ์ที่เป็นโรคเปลือกแห้งได้ง่ายเท่านั้นที่ควรใช้ระบบกรีดครึ่งลำต้น วันเว้นสองวัน
*ข้อควรปฏิบัติในการกรีดยาง*
1. ควรกรีดยางตอนเช้าหลังจากที่มีแสงสว่างแล้ว
2. กรีดยางเฉพาะต้นที่ได้ขนาดแล้ว
3. รอยกรีดจะต้องเริ่มจากซ้ายบนมาขวาล่าง เอียงประมาณ 30 องศากับแนวระดับ
4. อย่ากรีดเปลือกหนา เพราะจะทำให้เปลือกงอกใหม่เสียหาย
5. อย่ากรีดเปลือกหนา ภายใน 1 เดือน ไม่ควรกรีดให้เปลืองเปลือกเกิน 2.5 เซนติเมตร หรือภายใน 1 ปี ไม่ควรกรีดให้เปลืองเปลือกเกิน 25 เซนติเมตร
6. หยุดกรีดเมื่อยางผลัดใบหรือเป็นโรคหน้ายาง
7. มีดกรีดยางต้องคมอยู่เสมอ
8. การเปิดกรีดยางหน้าที่สองและหน้าต่อไปให้เปิดกรีดที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร




การกำจัดวัชพืช"วิธีปลูกต้นยาง"


การกำจัดวัชพืช การกำจัดวัชพืชทำได้ 3 วิธีคือ


1. ใช้จอบถากหรือแทรกเตอร์ไถ วิธีนี้เกษตรกรนิยมใช้มากแต่มีข้อเสียคือจะกระทบกระเทือนต่อราก ทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต
2. ใช้วิธีปลูกพืชคลุมดิน โดยนำเมล็ดพืชคลุมดินแต่ละชนิดมาผสมกันแล้วนำไปปลูกโดยใช้เมล็ดพืชคลุมดินในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ปลูกยาง 1 ไร่ ยกเว้นในท้องที่แห้งแล้งใช้อัตรา 1.5 กิโลกรัมต่อไร่
3. การใช้สารเคมี เป็นวิธีที่ให้ผลดี ประหยัดแรงงาน และเวลา นิยมใช้กับต้นยางที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป หรือต้นยางที่มีเปลือกบริเวณโคนต้นเป็นสีน้ำตาลสูงจากพื้นดินมากกว่า 75 เซนติเมตรไปแล้ว ส่วนต้นยางที่มีเปลือกบริเวณโคนต้นเป็นสีน้ำตาลสูงจากพื้นดินน้อยกว่า 75 เซนติเมตรไม่ควรใช้วิธีนี้
      สูตรที่ 1 ใช้พาราควอท 80 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ ระวังอย่าให้สารเคมี ถูกใบหรือส่วนที่เป็นสีเขียวของต้น สูตรนี้จะเหมาะกับต้นยาง ที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป สามารถคุมวัชพืชได้นาน 3-5 สัปดาห์ โดยหลังจากพ่นสารเคมี แล้วยภายใน 2-3 ชั่วโมง จะต้องไม่มีฝนตก การใช้สารเคมีจึงจะได้ผลสมบูรณ์
       สูตรที่ 2 ใช้ดาลาพอน 800 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ ฉีดพ่น และหลังจากนั้นอีก 21 วัน ให้พ่นซ้ำด้วยพาราควอท 40 กรัม (เนื้อสาร บริสุทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ อีกครั้งหนึ่ง สูตรนี้เหมาะกับต้นยาง ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยส่วนใหญ่จะใช้กำจัดวัชพืชพวกใบเลี้ยงเดี่ยว
      สูตรที่ 3 ใช้พาราควอท 60 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) และ 2,4-ดี 150 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ สุตรนี้จะเหมาะกับต้นยาง ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะใช้กำจัดวัชพืชพวกใบเลี้ยงคู่ รวมทั้งพืชคลุม ที่เลื้อยเข้าไปพันต้นยาง
      สูตรที่ 4 ใช้ไกลโฟเสท 205 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 50 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ สามารถ กำจัดวัชพืชได้หลายชนิดโดยไม่มีพิษตกค้างในดิน สามารถคุมวัชพืช ได้นาน 2 เดือน สูตรนี้เหมาะกับต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยหลังจากพ่น สารเคมีแล้วภายใน 6 ชั่วโมง จะต้องไม่มีฝนตก การใช้สารเคมีจึงจะได้ผลสมบูรณ์

การกำจัดหญ้าคา"วิธีปลูกยางพารา"
การใช้สารเคมีกำจัดหญ้าคานับว่าเป็นวิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและได้ ผลดีกว่าวิธีอื่นๆ โดยมีสูตรการใช้สารเคมีให้เลือก 3 สูตรคือ
สูตรที่ 1 ใช้ดาราพอน 1.6 กิโลกรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 100 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยใช้หัวฉีดสีแดง หลังจากฉีดพ่นแล้ว 21 วัน ให้ใช้ดาลาพอนในอัตราเดิม ฉีดพ่นซ้ำอีกครั้ง จากนั้นประมาณ 3-4 เดือน หากมีหญ้าคางอกหรือหลงเหลืออยู่ ควรฉีดพ่นสารเคมี อีกครั้งในอัตราเดิม
สูตรที่ 2 ถ้าต้นยางมีอายุตั้งแต่ 2 ปี ลงมาและมีหญ้าคาขึ้นบริเวณโคนต้น ให้ฉีดพ่น ด้วยด้วยดาลาพอน 1.6 กิโลกรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 100 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ หลังจากฉีดพ่นแล้ว 21 วัน ให้ใช้พาราควอท 80 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 100 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อลดอันตรายของต้นยางอ่อนซึ่งอาจเกิดขึ้นจากดาลาพอน
สูตรที่ 3 ใช้ไกลโฟเสท 410 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) ผสมน้ำ 100 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ฉีดพ่นเพียงครั้งเดียว
ข้อสังเกต การกำจัดหญ้าคาควรฉีดพ่นสารเคมีในช่วงที่หญ้าคากำลัง เจริญเติบโต (ต้นฤดูฝน) จะได้ผลดีที่สุด การกำจัดหญ้าคาด้วยไกลโฟเสทให้ผลดีกว่า ดาลาพอน ซึ่งดาลาพอนต้องพ่นถึง 2 ครั้ง แต่เมื่อเปรียบเทียบทางด้านค่าใช้จ่ายแล้วการใช้ดาลาพอนจะประหยัดกว่า
หมายเหตุ : เนื้อสารบริสุทธิ์ หมายถึง ปริมาณสารออกฤทธิ์ซึ่งจะต้องปรากฏ ในฉลาก ที่ภาชนะบรรจุเป็นภาษาไทย ตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 มาตรา 21

พื้นที่ราบและปลูกยางพารา


พื้นที่ราบและระยะปลูก



1. พื้นที่ราบ ถ้าต้องการปลูกพืชแซมในระหว่างแถวของต้นยาง – ในภาคใต้และภาคตะวันออกให้ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 2.50 เมตร ระหว่างแถว 8 เมตร จะได้จำนวน 80 ต้นต่อไร่ – ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 2.50 เมตร ระหว่างแถว 7 เมตร จะได้จำนวน 91 ต้นต่อไร่ ถ้าต้องการปลูกพืชคลุมดินในระหว่างแถวของต้นยาง
- ในภาคใต้และภาคตะวันออกให้ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 2.50 เมตร ระหว่างแถว 7 เมตร จะได้จำนวน 91 ต้นต่อไร่
- ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 3 เมตร ระหว่างแถว 6 เมตร จะได้จำนวน 88 ต้นต่อไร่
2. พื้นที่ลาดหรือพื้นที่เชิงเขา
ตั้งแต่ความชัน 15 องศาขึ้นไปต้องทำแนวขั้นบันไดโดยใช้ระยะระหว่างขั้นบันไดอย่างน้อย 8 เมตร ระยะระหว่างต้น 2.50 หรือ 3 เมตร
เมื่อกำหนดระยะปลูกได้แล้วก็ทำการวางแนวและปักไม้ทำแนวเพื่อขุดหลุมปลูกต่อไป แนวปลูกควรวางตามทิศทางลม

การปลูกซ่อม
หลังจากปลูกแล้วอาจมีต้นยางบางต้นตายไปเนื่องจากอากาศแห้งแล้ง ถูกโรคและแมลงทำลาย หรือต้นที่ปลูกไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องปลูกซ่อม ซึ่งควรทำให้เสร็จภายในช่วงฤดูฝน ต้นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกซ่อม คือ ยางชำถุง เพราะจำทำให้ต้นยางที่ปลูกในแปลงมีขนาดไล่เลี่ยกัน ส่วนต้นยางที่มีอายุเกิน 1 ปี ไปแล้วไม่ควรปลูกซ่อม เพราะจะถูกบังร่มไม่สามารถเจริญเติบโตทันต้นอื่นได้